top of page

ไฟป่าครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์แคนาดา และผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ในอเมริกาเหนือ




ควันจากไฟป่ากว่า 100 จุดที่กำลังลุกไหม้ทั่วแคนาดาได้เคลื่อนเข้าสู่เมืองต่างๆ ในอเมริกาเหนือที่ห่างไกลจากเปลวเพลิง ทำให้นครนิวยอร์กและเมืองดีทรอยต์เป็นสองในห้าเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเนื่องจากเหตุไฟไหม้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 โดยควันไฟได้ก่อให้เกิดการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศในหลายรัฐในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา



ฤดูไฟป่าในแคนาดาปีนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติและมีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่นและแห้งแล้ง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าปีนี้อาจเป็นปีที่แคนาดามีปัญหาไฟป่ารุนแรงที่สุดปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ เวลานี้กำลังเกิดไฟป่าอีกหลายจุดในเกือบ 10 มณฑลและเขตปกครองต่างๆ ในแคนาดา โดยมณฑลควิเบกได้รับผลกระทบจากวิกฤตไฟป่าครั้งนี้มากที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากฟ้าผ่า


ตามปกติแล้ว ไฟป่ามักเกิดขึ้นทางภาคตะวันตกของแคนาดา แต่ปีนี้ภาคตะวันออก รวมทั้งมณฑลควิเบกและมณฑลโนวาสโกเชีย ต่างเผชิญไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน จนรัฐบาลกลางแคนาดาต้องส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยจัดการภาวะฉุกเฉิน โดยคาดว่ามีประชาชนอพยพหนีไฟป่าแล้วอย่างน้อย 120,000 คนทั่วประเทศ


ความเสี่ยงจากควันไฟป่าทำให้หลายพื้นที่ในสหรัฐฯ รวมทั้งนครนิวยอร์ก กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน 15 รัฐของสหรัฐฯ ตั้งแต่รัฐเวอร์มอนต์จนถึงรัฐเซาธ์แคโรไลนาทางภาคตะวันออก ไปจนถึงรัฐแคนซัสและโอไฮโอในแถบกลางประเทศ ต่างประกาศเตือนภัยด้านสุขภาพที่เกิดจากควันพิษเหล่านี้ ที่กรุงวอชิงตันและรัฐใกล้เคียง หมอกควันพิษลอยปกคลุมท้องฟ้าจนทางการต้องเตือนภัยคุณภาพอากาศ และยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ พร้อมขอให้ประชาชนจำกัดเวลาการอยู่นอกบ้าน และผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากเวลาออกไปข้างนอก ที่นครนิวยอร์ก ท้องฟ้ากลายเป็นสีเทาและในอากาศมีกลิ่นไหม้ อาคารระฟ้าต่างๆ ถูกกลืนหายไปในหมอกควัน หลายพื้นที่มองเห็นพระอาทิตย์เป็นเพียงดวงไฟสีส้ม


สำนักข่าว The Conversation ได้สัมภาษณ์ Chris Migliaccio นักพิษวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมอนทานา ผู้ศึกษาผลกระทบของควันไฟป่าต่อสุขภาพของมนุษย์ เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ผู้คนสามารถเผชิญได้เมื่อควันไฟป่าที่พัดเข้ามาจากระยะไกล โดยเขาได้สรุปผลไว้ดังนี้

  • ควันไฟป่ามีพิษมากกว่ามลภาวะทางอากาศโดยทั่วไป และล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายสัปดาห์ ทั้งยังสามารถพัดไปได้เป็นระยะทางไกล ไฟป่าไม่เพียงแต่เผาไหม้ต้นไม้เท่านั้น แต่ยังเผาทำลายอาคารบ้านเรือน และยานพาหนะ ในควันไฟป่าจึงประกอบด้วยทั้งอนุภาคชีวภาพ และอนุภาคของสารเคมี เหล็ก พลาสติก และสารสังเคราะห์อื่นๆ

  • จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า ควันไฟป่าทำให้เกิดอาการอักเสบและทำให้เนื้อเยื่อเสียหายได้มากกว่ามลภาวะทางอากาศในปริมาณเท่ากัน

  • ผลการศึกษาในมนุษย์ยังบ่งชี้ว่า ควันไฟป่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทั้งยังทำให้มีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินจากภาวะในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น และทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ควันไฟป่ายังมีส่วนต่อการระคายเคืองตาและปัญหาผิวหนังด้วย

  • ผลกระทบจากควันไฟป่ายังอาจตกค้างอยู่ได้นานหลายปี ยกตัวอย่างกรณีเพลิงไหม้เหมืองถ่านหินฮาเซลวูดในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2014 ผู้ที่อาศัยในบริเวณนั้นยังคงมีอัตราเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นหลังจากนั้นถึงสองปีครึ่ง และเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจต่อไปอีกห้าปี

  • นอกจากนี้ ควันไฟป่ายังส่งผลต่อผู้ตั้งครรภ์ โดยเกี่ยวข้องกับการแท้งบุตร การให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักต่ำ และการคลอดก่อนกำหนด โดยผลการศึกษาที่ยังไม่ได้รับการตรวจทานในรัฐแคลิฟอร์เนียเผยว่า การสัมผัสถูกควันไฟป่า มีส่วนเชื่อมโยงกับความเสียหายของเซลล์รกในช่วงระยะแรกและระยะที่สอง

  • ยังมีรายงานจากนักวิจัยในแคนาดาว่า ผู้ที่อาศัยอยู่นอกเมืองใหญ่ และอยู่ในระยะที่ห่างจากไฟป่าไม่เกิน 50 กิโลเมตรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 4.9% และมีความเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับควันไฟป่า

  • ด้านกลุ่มนักวิจัยในรัฐแคลิฟอร์เนียเปิดเผยว่า การสัมผัสกับควันไฟป่า จากไฟป่าครั้งใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2018 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้และสมองในอีก 6-12 เดือน หลังสัมผัสกับควันไฟป่า โดยอาจเกี่ยวข้องกับความเครียดและอาการบอบช้ำทางจิตใจ

  • ข้อมูลอีกชุดหนึ่งจากรัฐแคลิเฟอร์เนีย ยังระบุด้วยว่า ผู้ที่สัมผัสถูกควันไฟป่ามีแนวโน้มติดเชื้อราเพิ่มขึ้น ในช่วงหลายเดือนหลังสัมผัสกับควันแล้ว โดยอาจเป็นเพราะสปอร์เชื้อราที่ลอยมากับควันไฟ

  • Doug Brugge หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สาธารณสุข วิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต กล่าวว่า ควันไฟป่าอาจเป็นภัยถึงชีวิตได้ และผู้คนควรลดการสัมผัสควันไฟป่า โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ การรับมือกับควันไฟป่าที่ดีที่สุด คือการลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะงดเล่นกีฬาหนักๆ และสวมหน้ากาก N95


 

ที่มา


Kommentarer


bottom of page