กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการจัดการศึกษาในอนาคตที่สถาบันการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงบทบาทของหน่วยงานภาครัฐต่อการรับมือกับความท้าทาย และการผลักดันข้อริเริ่มใหม่ ๆ ในงาน Bett Asia 2022 ภายใต้แนวคิด Education as a Catalyst for Change ระหว่างวันที่ 11-12 ตุลาคม 2565 ณ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ โดยในพิธีเปิดงาน H.E. Marcus John Hudson Fysh รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร ได้ให้เกียรติเดินทางมาเข้าร่วมงาน และมีผู้แทนจากบริษัทเทคโนโลยีการศึกษาชั้นนำ อาทิ Microsoft, Lenovo, HP, Zoom และอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้บริหารสถาบันการศึกษาผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำด้านการศึกษา และผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกเข้าร่วมงานมากกว่าสองพันคน ทั้งนี้ จากกระแสความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก งาน Bett Asia 2023 มีกำหนดจะจัดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม 2566
รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เกียรติร่วมกล่าวเปิดงานและอภิปรายร่วมกับผู้แทนหน่วยงานด้านการอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียนในงาน Bett Asia 2022 โดยในช่วงการกล่าวเปิด ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสำหรับการศึกษาในอนาคต การปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของสถาบันการศึกษาทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอุดมศึกษา นโยบายของกระทรวง อว. ที่สนับสนุนแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน และการผลักดันรูปแบบการเรียนต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับการจัดการศึกษาสำหรับยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงและมีความผัวผวนสูง เช่น การจัดการศึกษาแบบ Non-degree ระบบรับรองและพัฒนาความสามารถที่เฉพาะเจาะจง (Microcredits) ธนาคารหน่วยกิต (Credits bank) เพื่อเอื้อให้คนทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา (Re-skill and Upskill) และรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งได้กล่าวถึงข้อริเริ่มใหม่ของ กระทรวง อว. เช่น โครงการ Higher Education Sandbox เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษามีอิสระในการออกแบบหลักสูตรโดยก้าวข้ามขีดจำกัดของเกณฑ์มาตรฐานเดิม เป้าหมายเพื่อผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และโครงการผลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาไทย (Reinventing University) เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษามีความเป็นเลิศตามจุดแข็งของสถาบันอุดมศึกษาและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ
นอกจากนี้ ในการอภิปรายหัวข้อ Looking Ahead: Accelerating transformation in Higher Education ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานด้านการอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียน รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ ได้ร่วมแสดงความเห็นต่อความท้าทายของการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษายุคปัจจุบันในหลายมิติ เช่น นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษามีจำนวนลดลงเนื่องจากความเป็นสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน (Aging Society) ส่งผลให้มีอัตราการเกิดต่ำ สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันมีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นค่าดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปีประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาต่างประเทศได้ผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ความท้าทายเร่งด่วนทางการศึกษาในปัจจุบันคือ ความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งพบว่านักศึกษายุคใหม่สามารถใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว (Input) และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการบัณฑิตที่จบแล้วสามารถปฏิบัติงานได้เลยทันที (Output) ในขณะที่กระบวนการผลิตบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษายังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง (Process) จุดนี้ถือเป็นสิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาหลาย ๆ แห่งต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สถาบันอยู่รอด
Bett Asia ซึ่งเป็นเวทีการพบปะหารือของชุมชนภาคการศึกษา และภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการศึกษาจากทั่วโลก กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งมีหน่วยงาน/บริษัทต่าง ๆ ตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 14 ประเทศ การประชุมสุดยอด (Leadership Summit) ในหัวข้อต่าง ๆ โดยเชิญผู้มีชื่อเสียงและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยีเข้าร่วมนำเสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ดี และการจัดงาน Dialogue ระหว่างผู้บริหารด้านการศึกษาระดับสูง โดยผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับการจัดงานครั้งต่อไป Bett Asia 2023 คาดว่าจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม 2566 ณ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ
ข้อมูล : กองการต่างประเทศ
ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ถ่ายภาพ : นางสาวอินทิรา บัวลอย
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Comments