top of page

วานิลลา ความหอมหวานกับสรรพคุณทางการแพทย์



วานิลลา รสชาติและกลิ่นหอมหวานที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ที่ใช้สำหรับปรุงแต่งในอาหาร ขนมหวาน ไอศกรีม หรือเครื่องดื่มต่างๆ โดยวานิลลาที่เป็นที่รู้จักอย่างดีและแพร่หลายที่สุดในร้านค้าส่วนใหญ่ คือ วานิลลาที่จากมาดากัสการ์และเม็กซิโกที่ได้รับการยกย่องในเรื่องของกลิ่นและรสชาติที่เข้มข้น


วานิลลาเป็นพืชจำพวกกล้วยไม้สายพันธุ์วานิลลาพลานิโฟเลีย (Vanilla planifolia) ประกอบด้วยสารประกอบมากกว่า 200 ชนิด แต่รสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวนั้น มาจากสารประกอบที่เรียกว่า วานิลลิน (vanillin) ในปัจจุบันรูปแบบหลักของวานิลลา ได้แก่ สารสกัด และน้ำมันหอมระเหย

  • สารสกัด (Extract) เป็นการสกัดวานิลลินออกจากฝักวานิลลาด้วยการสกัดเย็น ไอน้ำ ไมโครเวฟ อัลตราซาวนด์ หรือเอนไซม์ หลังจากนั้น ผสมวานิลลินกับแอลกอฮอล์เพื่อผลิตสารสกัดวานิลลาบริสุทธิ์ แต่ทั้งนี้ สารสกัดวานิลลาบริสุทธิ์มีราคาสูง ผนวกกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น สารสกัดสังเคราะห์จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น ที่ประกอบด้วยวานิลลินในปริมาณเล็กน้อยรวมกับส่วนผสมที่มีราคาไม่แพง เช่น น้ำมันกานพลู เยื่อไม้ ถ่านหิน และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ทำให้สารสกัดสังเคราะห์มีราคาถูกลง แต่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

  • น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ได้มาจากการสกัดฝักวานิลลาด้วยตัวทำละลาย ซึ่งทำให้เกิดสารเข้มข้นกึ่งแข็งที่เรียกว่า วานิลลาโอเลอรีซิน (vanilla oleoresin) ที่ได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม ซึ่งวานิลลาโอเลอรีซินใช้ในการทำวานิลลาบริสุทธิ์ที่มีเนื้อบางกว่าและละลายได้ง่ายในน้ำมันบางประเภท เช่น มะพร้าว อัลมอนด์ หรือโจโจ้บา ซึ่งเป็นรูปแบบของน้ำมันหอมระเหยที่ไม่สามารถรับประทานได้ แต่ทั้งนี้ รูปแบบของน้ำมันหอมระเหยที่สามารถรับประทานได้นั้น จะต้องใช้น้ำมันที่บริโภคได้ (food grade) เช่น น้ำมันอัลมอนด์ หรือน้ำมันเมล็ดองุ่น ซึ่งสามารถนำไปใช้เพิ่มรสชาติของอาหารและเครื่องดื่มได้

นอกจากการใช้เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติแล้วนั้น ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อนำวานิลลามาใช้ทางการแพทย์ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ พบว่า วานิลลาได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ในช่วง Mesoamerica บริเวณพื้นที่เม็กซิโกและอเมริกากลางเมื่อหลายพันปีก่อน ชาวมายันมีการปลูกกล้วยไม้วานิลลานี้ มีการใช้ฝักวานิลลาเพื่อรักษาผิวหนังที่ถูกแมลงกัดต่อย รักษาบาดแผล ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าและเพื่อสงบสติอารมณ์ หลังจากนั้น วานิลลาได้เริ่มปรากฏในตำรับเภสัชของยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1700 (ราวปี พ.ศ. 2243) หลังจากที่สเปนยึดครอบครองพื้นที่และนำกลับไปยังยุโรป


แม้ว่าคุณสมบัติทางยาของวานิลลาจะได้รับการยอมรับในหลายวัฒนธรรมมานานหลายศตวรรษ แต่ทั้งนี้ ในเชิงวิทยาศาสตร์เพิ่งมีการเผยแพร่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เภสัชกรรม และพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาคุณสมบัติของวานิลลา พบว่า วานิลลามีคุณสมบัติการรักษาหลายอย่าง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ยับยั้งความรู้สึกเจ็บปวด ยับยั้งการก่อตัวของเนื้องอก ต้านการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ และช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบประสาท รวมถึงคุณสมบัติที่ช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย ลดระดับการผลิตสารที่เกิดจากความเครียดในสมองและภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้ การใช้สารสกัด หรือน้ำมันหอมระเหยเข้มข้นจากวานิลลานั้น อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือปฏิกิริยาทางผิวหนัง อีกทั้งการใช้เพื่อการรักษาทางการแพทย์ นักวิจัยยังคงต้องศึกษาและวิจัยต่อไป เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น ปริมาณ ความเข้มข้น อายุและสภาวะสุขภาพของผู้ใช้ ซึ่งควรปรึกษาและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพก่อนการใช้ในการรักษาทางการแพทย์

 

ที่มา:


Comentários


bottom of page