top of page

ยุทธศาสตร์การจัดการขยะของสหรัฐฯ


สหรัฐอเมริกา ผู้นำโลกในหลายๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ และการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ สหรัฐฯ ก็เป็นผู้นำในการสร้างขยะจำนวนมหาศาลด้วยเช่นกัน ขยะถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบ เตาเผาขยะ หรือในสภาพแวดล้อม วิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเทคโนโลยีและการจัดการขยะที่ดีขึ้น ขยะหรือของเสียมีการนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล การบำบัด และการนำไปใช้เพื่อผลิตเป็นพลังงานออกมาแทน เป็นต้น เพื่อลดปริมาณขยะและของเสีย การปนเปื้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


การสวมบทบาทเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลฯ แสดงบทบาทที่สำคัญในการจัดวางยุทธศาสตร์ระดับชาติ การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการจัดการขยะ การติดตามผล การสนับสนุนโครงการวิจัย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ด้วยเหตุนี้ การจัดการของเสียจึงเป็นเป้าหมายหลักอีกอันของประเทศในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่รวมตั้งแต่ขยะมูลฝอยในเขตเทศบาล ของเสียจากอุตสาหกรรม และของเสียอันตรายต่างๆ ซึ่งการจัดการของเสียเหล่านี้ในอเมริกาเหนือมีมูลค่าสูงถึง 208 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ เป็นสัดส่วนใหญ่ในตลาดนี้ นอกเหนือจากการดำเนินการของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่าง Waste Management Inc. และ Republic Services แล้ว ขยะและของเสียในสหรัฐฯ ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ หรือ EPA (Environmental Protection Agency) เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมกฏระเบียบและการดำเนินการจัดการขยะและของเสียของประเทศภายใต้พระราชบัญญัติต่างๆ


นอกจากนี้ ปัญหาพลาสติกล้นโลก ซึ่งตั้งแต่ปี 2513 (ราว ค.ศ.1970) อัตราการผลิตพลาสติกได้เติบโตเร็วกว่าวัสดุอื่นๆ ซึ่งหากแนวโน้มการเติบโตยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าการผลิตพลาสติกขั้นต้นทั่วโลกจะสูงถึง 1,100 ล้านตันภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยประมาณ 36% ของพลาสติกทั้งหมดที่ผลิตได้ถูกนำมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ รวมถึง ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม นี้โดยประมาณ 85% ของพลาสติกทั้งหมดถูกฝังกลบหรือเป็นของเสียที่ไม่ได้รับการควบคุม นอกจากนี้ ราว 98% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือวัตถุดิบตั้งต้น ซึ่งส่งผลให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 19% ของปริมาณคาร์บอนทั่วโลกภายในปี 2583 (ค.ศ.2040)


ปัจจุบันคาดว่ามีขยะพลาสติก 75 - 199 ล้านตันที่พบในมหาสมุทร ปริมาณขยะพลาสติกที่เข้าสู่ระบบนิเวศทางน้ำจาก 9-14 ล้านตันต่อปีในปี 2559 อาจเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า เป็น 23-37 ล้านตันต่อปีภายในปี 2583 (ค.ศ.2040) เว้นแต่ว่าเราจะเปลี่ยนวิธีการผลิต ใช้ และกำจัดพลาสติก ความทนทานของพลาสติกมีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่คุณสมบัติเดียวกันก็ทำให้ทนทานต่อการเสื่อมสภาพ และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ ในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (DOE) ประกาศการระดมทุนสูงถึง 14.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดขยะและลดพลังงานที่ใช้ในการรีไซเคิลพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำพวกถุงพลาสติก พลาสติกคลุมอาหาร และฟิล์ม โดยมุ่งไปที่เทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติก เพื่อให้ DOE จัดการกับความท้าทายของการรีไซเคิลขยะพลาสติกและสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาดและรับรองว่าสหรัฐฯ จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)


โอกาสในการระดมทุนนี้ สร้างขึ้นจากการลงทุนของ DOE ร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ Bio-Optimized Technologies to keep Thermoplastics out of Landfills and the Environment (BOTTLE) และสถาบัน Reducing EMbodied energy And Decreasing Emissions (REMADE) โดยที่ผ่านมา หน่วยงาน BOTTLE ได้ดัดแปลงเอ็นไซม์ เพื่อแยกโครงสร้าง Polyethylene terephthalate (PET) ที่เป็นพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ได้ดีขึ้น และจะช่วยแยกโครงสร้างโพลิเอทิลีนแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาพลาสติกชนิดใหม่ที่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้นด้วย


นอกจากนี้ DOE ยังสนับสนุนเงินทุนวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยและบริษัทต่างๆ ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพลาสติก เช่น

  • University of Massachusetts Lowell (เมือง Lowell รัฐแมสซาชูเซตส์) ศึกษากระบวนการแยกส่วนและคาร์บอนไนเซชันสำหรับการนำกลับมาใช้ของฟิล์มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และแบบหลายชั้นหลายชั้น ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • Iowa State University of Science and Technology (เมือง Ames รัฐไอโอวา) พัฒนาวงจรปิดของฟิล์มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ ให้เป็นโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • Michigan State University (เมือง East Lansing รัฐมิชิแกน) ออกแบบพลาสติกที่รีไซเคิลได้โดยเนื้อแท้/โดยธรรมชาติ (inherently recyclable plastics) ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • North Carolina Agricultural & Technical State University (เมือง Greensboro รัฐนอร์ทแคโรไลนา) พัฒนาการเร่งปฏิกิริยาของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ด้วยพลาสมา ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • West Virginia University Research Corporation (เมือง Morgantown รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย) พัฒนากระบวนการทำให้ฟิล์มพลาสติกแยกส่วนเป็นโมโนเมอร์โดยการเร่งปฏิกิริยาด้วยไมโครเวฟ ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • บริษัท Braskem (เมือง Pittsburgh รัฐเพนซิลเวเนีย) พัฒนาฟิล์มหลายชั้นที่ใช้ชีวเคมีแบบโพลิเมอร์เดี่ยว (single-polymer) ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • บริษัท TDA Research Inc. (เมือง Wheat Ridge รัฐโคโลราโด) พัฒนาฟิล์มที่สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา:


พระราชบัญญัติ Resource Conservation and Recovery Act (RCRA)

พระราชบัญญัติ RCRA เป็นกฎหมายที่สร้างกรอบการทำงานระดับชาติสำหรับการจัดการขยะมูลฝอยที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายให้เหมาะสม โดยรัฐสภาให้อำนาจแก่สำนักงาน EPA ในการกำหนดมาตราฐานและกำหนดกฎระเบียบควบคุมขยะและของเสียอันตรายตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงขั้นตอนการจัดการในขั้นสุดท้าย ครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การบำบัด การจัดเก็บ และการกำจัดของเสียอันตราย พัฒนากฎระเบียบ ให้คำแนะนำ และนโยบายที่รับรองการจัดการที่ปลอดภัยทั้งของเสียทั่วไปและของเสียอันตราย และลดการใช้จากแหล่งใหม่ และส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่

เป้าหมาย RCRA ปัจจุบัน และการดำเนินการในอนาคต

  • การพัฒนาระบบที่ครอบคลุมและโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐ เพื่อจัดการของเสียอันตรายตั้งแต่จากแหล่งกำเนิดสู่จุดสุดท้าย

  • การกำหนดกรอบการทำงานสำหรับรัฐบาลระดับรัฐในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนและวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การป้องกันการปนเปื้อนต่อชุมชน และการส่งผลต่อ Superfund ในอนาคต (Superfund ชื่อเรียกไม่เป็นทางการของพระราชบัญญัติ CERCLA (Comprehensive Environmental Response, Compensation and Liability Act) ที่ช่วยให้สำนักงาน EPA สามารถดำเนินการทำความสะอาดพื้นที่ที่ปนเปื้อนได้ นอกจากนี้ ยังสามารถบังคับให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบจากการปนเปื้อนนี้ ดำเนินการทำความสะอาด หรือจ่ายเงินคืนให้แก่รัฐบาลในการดำเนินการทำความสะอาด)

  • การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน 18 ล้านเอเคอร์ (ราว 72,800 ล้าน ตร.ม.) ซึ่งเกือบเท่ากับขนาดของรัฐเซาท์แคโรไลนา และทำให้ที่ดินพร้อมสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิผลผ่านทางโครงการ RCRA Corrective Action

  • การสร้างความร่วมมือและโครงการมอบรางวัลเพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการผลิตเพื่อลดของเสียและนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย

  • ส่งเสริมการตระหนัก/ความเข้าใจว่า ขยะ/ของเสียเป็นสินค้ามีค่าที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งเป็นการจัดการวัสดุที่ยั่งยืน

  • การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลของประเทศและเพิ่มอัตราการรีไซเคิล/การย่อยสลายขยะมูลฝอย

พระราชบัญญัติ RCRA ได้มีการปรับและพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่รวมถึง ขยะหรือของเสียที่เป็นพิษสูง ของเสียจากอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะทางอากาศและทางน้ำ และการเติบโตของประชากรที่ทำให้ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่พระราชบัญญัติ RCRA ยังคงดำเนินภารกิจต่อไปในอนาคต คือ การปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง การบรรเทาและลดการปนเปื้อน การสนับสนุนแนวทางการจัดการวัสดุสิ้นเปลืองและวัสดุเหลือใช้ตลอดวงจรชีวิตที่ยั่งยืน การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (รวมถึงการสร้างงาน) และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน


ที่มา:


ยุทธศาสตร์การรีไซเคิลแห่งชาติ (National Recycling Strategy)

ระบบรีไซเคิลของสหรัฐฯ เผชิญกับความท้าทายมากมาย ตลาดที่ลดลงสำหรับวัสดุรีไซเคิล โครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลที่ไม่สอดคล้องกับกระแสของเสียที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ความสับสนเกี่ยวกับวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ และวิธีการต่างๆ ในการวัดประสิทธิภาพของระบบรีไซเคิล ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงกับปัญหาที่หลากหลาย

ยุทธศาสตร์การรีไซเคิลแห่งชาติ (National Recycling Strategy) เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งส่งเสริมความก้าวหน้าระบบรีไซเคิลของสหรัฐฯ เพื่อจัดการความท้าทายในการรีไซเคิลที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ และเพื่อสร้างระบบรีไซเคิลขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลให้มีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และคุ้มค่าใช้จ่าย โดยในปี 2564 เป็นครั้งแรกที่สำนักงาน EPA ได้มีการระบุผลกระทบต่อสภาพอากาศจากการผลิต การใช้ และการกำจัดวัสดุ และมุ่งเน้นไปที่สุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในยุทธศาสตร์การรีไซเคิลแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์ปี 2564 มีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 5 ประการ ได้แก่

  • การปรับปรุงตลาดสำหรับสินค้ารีไซเคิล รวมถึง การรวมวัสดุรีไซเคิลเข้ากับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้น เพิ่มการใช้วัตถุดิบวัสดุรีไซเคิลในการผลิตภายในประเทศ จัดตั้งนโยบาย/โครงการจูงใจเพื่อเพิ่มความต้องการใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น

  • เพิ่มการรวบรวมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการจัดการวัสดุ การมอบเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการรีไซเคิล และการลงทุนในนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุ โครงสร้างพื้นฐานในการประมวลผล เพิ่มการรวบรวมวัสดุ และสร้างระบบรีไซเคิลที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น

  • ลดการปนเปื้อนในกระบวนการวัสดุรีไซเคิล เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพของวัสดุรีไซเคิล ทำให้สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น และลดปริมาณการทิ้ง

  • ปรับปรุงโครงการและนโยบายการรีไซเคิลในระดับรัฐบาลกลาง รัฐ และระดับท้องถิ่น

  • สร้างเกณฑ์มาตรฐานและเพิ่มการเก็บรวบรวมข้อมูล พัฒนา และดำเนินการตามเป้าหมายและตัวชี้วัดประสิทธิภาพระบบรีไซเคิลแห่งชาติ

ที่มา:


Break Free from Plastic Pollution Act (BFFPPA)

พลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันเข้าสู่มหาสมุทรทุกปี ส่งผลกระทบต่อสัตว์และทำลายระบบนิเวศ รวมถึง ส่งผลต่อสุขภาพของคนเราเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมีส่วนใหญ่และเตาเผาขยะพลาสติก รวมทั้ง กระบวนการผลิตพลาสติก ที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งก่อปัญหาด้านมลพิษ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า พลาสติกมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อคนเรา สัตว์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิต ตั้งแต่การสกัดจนถึงการกลั่น การผลิต การขนส่ง การกำจัด และของเสีย พระราชบัญญัติ Break Free From Plastic Pollution Act of 2021 (BFFPPA) เป็นกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อจัดการกับวิกฤตนี้ ถ้าแม้ว่าจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกของอเมริกาให้หมดไปได้ทั้งหมด แต่การกำหนดกลยุทธ์ในการลดการใช้พลาสติก การให้อุตสาหกรรมพลาสติกรับผิดชอบต่อของเสีย และหยุดการก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกแห่งใหม่ จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างอนาคตที่มีสุขภาพดี ยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยหลักสำคัญในพระราชบัญญัติ BFFPPA ได้แก่

  • กำหนดให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และภาชนะบรรจุอาหารต้องออกแบบ จัดการ และให้เงินสนับสนุนโครงการเพื่อจัดการขยะและรีไซเคิล

  • เปิดตัวโครงการตู้คอนเทนเนอร์เครื่องดื่มคืนเงินทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนอัตราการรีไซเคิล

  • เลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวบางประเภทที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้

  • ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและเก็บค่าธรรมเนียมในการจำหน่ายถุงหิ้ว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในระดับรัฐ

  • กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการรีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร

  • เพิ่มช่องทางการลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลและการทำปุ๋ยหมักในสหรัฐฯ

  • ห้ามส่งขยะพลาสติกไปยังประเทศกำลังพัฒนา

  • กำหนดให้สำนักงาน EPA ร่วมมือกับ National Academies of Science เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสาธารณสุข จากโรงงานเตาเผาขยะและโรงงานรีไซเคิลพลาสติก

  • ระงับการดำเนินการของโรงงานผลิตพลาสติกใหม่หรือการขยายโรงงานชั่วคราว จนกว่าสำนักงาน EPA จะสร้างและปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับโรงงานผลิตพลาสติก เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบทั้งโดยตรงและสะสมต่อสุขภาพของประชาชน

ที่มา:

Comments


bottom of page