top of page

การมอบรางวัล Friend of Thai Science 2024

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้จัดพิธีมอบรางวัลเกียรติคุณ Friend of Thai Science 2024 ให้แก่ ศ.ดร. Mark Robson และ รศ. ดร. ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ณ สถานเอกอัครราชทูต ประจำกรุงวอชิงตัน โดยได้รับเกียรติจาก น.ส. จุลีพจน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อุปทูตฯ เป็นผู้มอบรางวัล โดยมีอัครราชทูตที่ปรึกษาจากสำนักงานต่างๆ ของสถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมแสดงความยินดี ในโอกาสนี้ ศ.ดร. Mark Robson และ รศ. ดร. ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย แสดงความขอบคุณมายังท่านปลัดกระทรวง อว. ที่ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และกล่าวว่ารางวัลนี้ถือเป็นเกียรติต่อตนเองและวงศ์ตระกูล ตลอดจนเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยต่อไป


Distinguished Professor Mark Gregory Robson, PhD, MPH

Dean of the School of Graduate Studies and Associate Vice Provost for Graduate Education

Rutgers School of Graduate Studies – Rutgers University, New Brunswick, New Jersey, USA

 


Prof. Mark Robson ได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ไทยในแวดวงวิชาการและรัฐบาล ในการวิจัยและการสอนเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เมื่อ Prof. Robson เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนระดับบัณฑิตศึกษาที่ Rutgers University ของ รศ. ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และอดีตวุฒิสมาชิกจากจังหวัดสงขลา ในช่วงทศวรรษ 1990 Prof. Robson ได้รับเชิญให้พัฒนาโครงร่างโครงการของ NIH ร่วมกับคณาจารย์ของ มอ. ทางด้าน health and environmental exposures ด้วยความร่วมมือนี้ทำให้ Prof. Robson ได้รับเชิญในปี 2001 ให้สอนในโครงการ Asian Development Bank Program (ADB) สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยไทยอื่นๆ อีก 5 แห่ง


Prof. Robson ยังคงสอนหลักสูตรนี้ทุกปี และเป็นหนึ่งในอาจารย์ไม่กี่คนที่ยังคงสอนหลักสูตรนี้อยู่ จนถึงปัจจุบันนักศึกษาไทยหลายร้อยคนรวมถึงนักศึกษาชาติอื่นๆ จำนวนมากจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เรียนหลักสูตรนี้ และกลายเป็นผู้นำทางวิชาการ หลักสูตรของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และมีความสำคัญอย่างมากต่อพลเมืองไทย มีการฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทย


ในเดือนมกราคม 2005 หลังจากเกิดคลื่นสึนามิทางภาคใต้ของประเทศไทย Prof. Robson ได้ทำหน้าที่เป็น Fulbright Senior Scientist โดยทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มอ. เพื่อทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก Robert Wood Johnson Foundation เป็นเวลาสี่ปีร่วมกับ ศ.นพ.ดร.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ในการสร้างเสริมศักยภาพด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมในภาคใต้ของประเทศไทยและอินโดนีเซีย


Prof. Robson ยังเป็นหัวหน้านักวิจัยในโครงการฝึกอบรม NIH Fogarty International Training in Research in Environmental and Occupational Health Project (ITREOH) ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลาเจ็ดปี โดยตั้งอยู่ในวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมมือกับ ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล ในโครงการนี้ มีนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนและฝึกอบรมอีกด้วย ซึ่ง Prof. Robson ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาร่วมให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาชาวไทย 28 คน (https://eohsi.rutgers.edu/thai-fogarty-itreoh-center)


หลังจากโครงการ ITREOH Prof. Robson ยังได้เป็นหัวหน้านักวิจัยในโครงการ NIH Fogarty GEOHealth Hub ร่วมกับ Dr. Susan Woskie จาก University of Massachusetts Lowell ในสหรัฐฯ และ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอีกโครงการหนึ่ง ด้วยคุุณููปการต่องานวิทยาศาสตร์ของไทย ในปี 2010 Prof. Robson จึงได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Prof. Robson กล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่สุดในอาชีพการศึกษาของเขา Prof. Robson ยังคงดำเนินงานที่สนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ของไทยอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญจนถึงปัจจุบัน


 


รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย

Program Manager, Business, Innovation and Economic Development,

Montgomery County Executive Office, Maryland

Executive Committee, the World bank Family Network (WBFN)

อดีตรองอธิการบดี และ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ดร.ณัฐชาฯ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้าน STEAM ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ ความเป็นผู้นำในการจัดตั้ง Global Innovation Club ของ ดร.ณัฐชาฯ ได้ เชื่อมโยงหน่วยงานระดับโลก รัฐบาล เครือข่ายทางวิชาการ พันธมิตรภาคเอกชน และนักลงทุน โดยมีเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ เป็นประธาน และได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรจากองค์กรภาครัฐและเอกชน เช่น BOI, NXPO, NIA, DEPA, DITP, DIP, Innospace, Thai startup association, Techsauce, และ CU Enterprises คลับนี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งการขยายตัวของประเทศ

ไทย ความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งคือ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ Cornell University ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Cornell Global Hub Network ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการวิจัยระดับโลก การเพิ่มขีดความสามารถด้านการศึกษาและการวิจัยของทั้งสองสถาบันผ่านโครงการร่วมกัน ดร.ณัฐชาฯ ยังได้ก่อตั้งความร่วมมือที่สำคัญระหว่าง School of Integrated Innovation ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ University of California, Berkeley


นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2567 ดร.ณัฐชาฯ ยังช่วยสร้างความร่วมมือสตาร์ทอัพระหว่าง Montgomery County รัฐแมริแลนด์และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้การลงนามอย่างเป็นทางการผ่าน MOU ซึ่งเป็นการสนับสนุนในระดับนานาชาติสำหรับบริษัทไทยที่ขยายกิจการไปยังสหรัฐฯ และบริษัทสหรัฐฯ มายังประเทศไทย ภายใต้การชี้นำของ ดร.ณัฐชาฯ Chula Deeptech Demo Day 2023 ยังเป็นงานสำคัญที่จัดแสดงวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึกมากกว่า 100 แห่ง ดึงดูดตัวแทนจากทั่วโลกกว่า 500 ราย รวมถึงนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลงานของดร. ณัฐชาฯ ได้รับการยอมรับด้วยรางวัล Prime Minister Award: National Startup 2023 ในประเภท Evangelist of the Year ด้วยความพยายามเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการศึกษา STEAM และนวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญ



สำนักงานฯ ได้ดำเนินกิจกรรมการมอบรางวัลเกียรติคุณ Friend of Thai Science มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

ให้แก่บุุคคลผู้มีคุุณูปการต่อวงการ อววน. ของไทย มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์และความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับไทยและมนุุษยชาติ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุุคคลดังกล่าว โดยระหว่างปี 2561 – 2566 ได้มอบรางวัลนี้ให้บุุคคลในฝั่งทวีปอเมริกามาแล้ว 12 ท่าน จากสหรัฐฯ จำนวน 11 ท่าน และแคนาดา จำนวน 1 ท่าน ในปี พ.ศ. 2567 นี้ สำนักงานฯ ได้ประกาศแจ้งเชิญชวนหน่วยงาน สมาคมต่างๆ และบุคคลทั่วไป ผ่านเว็บไซต์์และช่องทางสื่อสารของสำนักงานฯ เพื่อขอรับการเสนอบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้ผ่านกระบวนการพิจารณาคัดเลือกจำนวน 2 ท่าน

            สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันขอแสดงความยินดีกับบุคคลผู้ได้รับรางวัล Friend of Thai Science ประจำปี พ.ศ. 2567 ทั้งสองท่านมา ณ ที่นี้


สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัล Friend of Thai Science Award ได้จาก https://www.ohesdc.org/friend-of-thai-science-award


Comments


bottom of page