ดาวหาง เป็นวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยฝุ่นและน้ำแข็งที่เป็นเศษเหลือจากการก่อตัวของระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน ดาวหางเมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะมีส่วนที่ระเหิด เกิดเป็นฝุ่นและแก๊สที่ฝ้ามัวล้อมรอบลากยาว ทำให้ดูเหมือนเป็นหางที่ทอดยาวออกไป
ดาวหางมีคาบการโคจรที่แตกต่างกันออกไป ดาวหางคาบระยะสั้น (short-period comets) ที่เชื่อว่าอยู่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) วงโคจรของดาวเนปจูน ที่ใช้เวลาน้อยกว่า 200 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดาวหางดวงอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป หรือดาวหางคาบระยะยาว (long-period comets) เช่น กลุ่มที่อยู่ในเมฆออร์ต (Oort Cloud) ซึ่งเป็นขอบนอกของระบบสุริยะ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าแถบไคเปอร์ประมาณ 50 เท่า ดาวหางกลุ่มนี้ใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์นานกว่ามาก ดาวหางที่มีเคยค้นพบมีวงโคจรที่ยาวที่สุดใช้เวลากว่า 250,000 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์เพียงครั้งเดียว!! ทั้งนี้ดาวหางสามารถหลุดออกจากวงโคจรได้ เนื่องจากแรงกระทำภายนอก เช่น การเกิด Supernova หรือเกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์หรือดาวฤกษ์ที่ดึงให้ดาวหางนั้นออกห่างจากถิ่นที่อยู่ เกิดการเปลี่ยนเส้นทาง และถูกแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ดูดให้มาเป็นบริวาร เมื่อดาวหางถูกดึงเข้าหาดวงอาทิตย์เร็วขึ้นและเร็วขึ้น ก่อให้เกิดแรงเหวี่ยงเกิดการโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นลักษณะวงรี
เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว นักดาราศาสตร์สำรวจพบดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จากกล้องของ Zwicky Transient Facility ที่หอดูดาว Palomar ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เป็นดาวหางคาบยาวที่มีแสงสว่างสีเขียว กำลังเดินทางมาปรากฏต่อสายตามนุษย์เป็นครั้งแรก จากที่ไม่ได้มาเยือนโลกหรือระบบสุริยะชั้นในตั้งแต่ในยุคน้ำแข็ง หรือราว 50,000 ปีก่อน โดยดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ประมาณ 160 ล้านกิโลเมตร ในวันที่ 12 มกราคม 2566 หลังจากดาวหางจะเคลื่อนเข้าหาโลกโดยเข้าใกล้โลกของเรามากที่สุดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 42 ล้านกิโลเมตร คาดว่าจะสามารถเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำด้วยกล้องส่องทางไกล และเป็นไปได้ว่าอาจจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในท้องฟ้าที่มืด
ที่มา https://www.space.com/comet-c2022-e3-ztf-closest-to-sun-thursday-jan-12-2023,https://spaceplace.nasa.gov/comets/en/
Comments