top of page

การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 3 (3rd Thai-US JCM)



กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมคณะกรรมการร่วมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-สหรัฐฯ (Thailand – U.S. Joint Committee Meeting on Science and Technology - JCM) ครั้งที่ 3 ขึ้น ระหว่างวันที่ 21 - 22 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย กล่าวเปิดการประชุม และ Jennifer R. Littlejohn, Acting Assistant Secretary, Bureau of Oceans and International Environment and Scientific Affairs, U.S. Department of State เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐอเมริกา


การประชุม JCM ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการหารือเกี่ยวกับกิจกรรมภายใต้ความตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการร่วมกันในอนาคต รวมถึงเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาและยกระดับความร่วมมือตามพันธสัญญาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ


หลังจากที่ประธานทั้งสองฝ่ายได้กล่าวเปิดงาน ดร.เศรษฐพันธ์กระจ่างษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดประชุมในหัวข้อ “Readout from Previous U.S.-Thailand JCMs” หลังจากนั้น ได้แบ่งการเสวนาทางวิชาการและการประชุมกลุ่มย่อย 4 สาขา ได้แก่ 1) พลังงาน และการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) 2) STEM Education ผู้ประกอบการ และระบบนิเวศนวัตกรรม 3) ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ การเกษตร และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation) 4) สุขภาพ ยา และสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและสหรัฐฯ ได้หารือในประเด็นต่างๆ ผลผลิตที่เป็นรูปธรรมต่อยอดการพัฒนา และช่องทางพัฒนาความร่วมมือในอนาคต โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมประชุมกว่า 130 คน



โดยผู้แทนทั้ง 4 สาขาได้รายงานสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยและแผนการดำเนินความร่วมมือในอนาคต ดังนี้

  1. Health and Medicine, Including OneHealth – แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกันในด้าน genome sequencing การควบคุมโรค ความมั่นคงทางสุขภาพ และสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เพื่อส่งเสริมสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การสนับสนุนการจัดการข้อมูล ฐานข้อมูลและทรัพยากรชีวภาพ ตลอดจนการเพิ่มจำนวนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ

  2. STEM, Entrepreneurship and Innovation Ecosystem – มุ่งยกระดับการพัฒนาหลักสูตร Computer Science ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ผ่านโครงการ CS for All ของสหรัฐฯ การตั้งคณะทำงานด้าน Computer Literacy ร่วมกัน และผลักดันความร่วมมือด้านการออกแบบหลักสูตรด้าน AI Engineering ในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง U.S. GIST Initiative และ Startup Thailand Program และการตั้งคณะทำงาน National Startup Committee

  3. Biodiversity, Water, Agriculture and Climate Change Adaptation – สร้างแพลตฟอร์มสำหรับประเด็นที่มีความคาบเกี่ยว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตร การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

  4. Energy and Climate Change Mitigation – ชูประเด็นเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน พลังงานชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเชื่อมโยงสถาบันวิจัยระหว่างสองประเทศเพื่อมุ่งสู่ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์


ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม JCM ครั้งที่ 3 คณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยได้รับการต้อนรับจาก ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค พร้อมด้วยผู้บริหารและคณะนักวิจัย พร้อมเข้าเยี่ยมชมกลุ่มวิจัยของไบโอเทค ได้แก่ โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ และโรงงานผลิตพืช


 

ที่มา



Comments


bottom of page