ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.3.20 แล้ว 2 ราย มีแนวโน้มแพร่เร็ว ขณะที่ BA.4.6 ซึ่งมีแนวโน้มหลบภูมิได้ดี พบในไทยจำนวน 3 ราย ส่วน XBB.X พบแล้ว 5 ราย ทั้งหมดยังไม่พบสัญญาณที่น่ากังวล เน้นย้ำมาตรการป้องกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ ฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้นโดยเฉพาะ ในช่วงฤดูหนาวยังจำเป็น
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ แถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ขณะนี้สายพันธุ์หลักที่พบยังเป็นโอมิครอน และการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 เช่นเดียวกับทั่วโลก และพบสายพันธุ์ย่อยที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เฝ้าติดตามเพิ่มขึ้น เช่น XBB , BA.4.6 และ BQ.1 โดยแต่ละพื้นที่อาจพบการระบาดสายพันธุ์ที่ต่างกัน เช่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกา รายงานแนวโน้มสายพันธุ์ BQ.1, BQ.1.1 เพิ่มมากขึ้นแต่ยังไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ BQ.1 หรือ BQ.1.1 มีความรุนแรงกว่า BA.4 หรือ BA.5
นายแพทยศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับข่าวที่ระบุว่ามีสายพันธุ์ใหม่ ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ โดยยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ เช่น เดลตา อัลฟา แกมมา โอมิครอน สายพันธุ์ย่อยที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เฝ้าติดตามที่เริ่มพบในประเทศไทย เช่น สายพันธุ์ BA.4.6 มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น เช่น BA.1, BA.2, BA.4 และ BA.5 พบว่า ภูมิคุ้มกันของคนที่ได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาก่อน ลบล้างเชื้อหรือฆ่าเชื้อ BA.4.6 ได้น้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง แสดงว่าคนที่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาจะได้ผลต่อ BA.4.6 น้อยลงไปครึ่งหนึ่ง ขณะนี้พบ 3 รายแล้ว สายพันธุ์ BA.2.3.20 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2 มีการกลายพันธุ์อยู่หลายตำแหน่ง มีแนวโน้มแพร่เร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้ว 2 ราย ทั้งคู่หายแล้ว ส่วน AY.103 ซึ่งเป็นลูกหลานเดลต้า ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เพียงแต่มีตำแหน่งกลายพันธุ์ที่เพิ่มจากเดลต้าเดิม ซึ่งยังไม่มีหลักฐานแสดงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น และมีรายงานเข้าฐานข้อมูล GISAID เพียงรายเดียว จึงยังไม่ต้องกังวลอะไร ประเทศไทยยังไม่พบ
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (22- 28 ตุลาคม 2565) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังตรวจการกลายพันธุ์โควิด 19 จำนวน 143 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์ BA.2 จำนวน 5 ราย สายพันธุ์ BA.4/BA.5 จำนวน 118 ราย และสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 10 ราย และโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ 10 ราย และสิ่งที่น่าสนใจคือพบ BA.2.75 ถึง 10 ราย ในบางพื้นที่ ซึ่งเดิมบางสัปดาห์พบเพียง 3-5 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น จะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป โดยอนาคตเราจะจับตาดู BQ.1 ว่าจะเพิ่มจำนวนเหมือนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ซึ่งจะต้องเพิ่มน้ำยาตรวจจำเพาะต่อสายพันธุ์ BQ ทั้งหลายด้วย ทั้งนี้ โดยสรุปจำนวนสายพันธุ์ย่อยที่น่าสนใจ และองค์การอนามัยโลกระบุให้เฝ้าติดตาม ซึ่งประเทศไทยพบและได้เผยแพร่ในฐานข้อมูล GISAID ได้แก่ BF.5 พบ 6 ราย, BF.7 พบ 2 ราย, BQ.1 พบ 2 ราย, BE.1 พบ 5 ราย, BE.1.1 พบ 2 ราย, BN.1 พบ 9 ราย, BA.4.6 พบ 3 ราย, XBB.X พบ 5 ราย และ BA.2.3.20 พบ 2 ราย ข้อมูลดังกล่าวได้รายงานให้กรมควบคุมโรคเพื่อติดตามสอบสวนโรคต่อไป
“การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติของไวรัส และมีการแตกลูกหลานจำนวนมาก ซึ่งยังไม่มีสัญญาณของความรุนแรงที่เพิ่มเติมจากปกติแต่อย่างใด ประกอบกับผู้คนในโลกมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นทั้งจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน ทำให้อัตราการเสียชีวิตก็ลดน้อยลง สำหรับประเทศไทยยังมีมาตรการป้องกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดยังมีความสำคัญในการช่วยลดการติดเชื้อ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้อาจมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่าย ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าจะทำหน้าที่เฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 อย่างเข้มข้นและ ไม่ลดน้อยถอยลง” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
คลิปแถลงข่าว https://youtu.be/hYTLq3TIhfY
Bình luận