องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization; WHO) ได้ออกแนวทางปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับสารให้ความหวานที่ไม่ใช่น้ำตาล (non-sugar sweeteners; NSS) ได้แก่ acesulfame K, aspartame, advantame, cyclamates, neotame, saccharin, sucralose, stevia และ stevia derivatives ซึ่งเตือนไม่ให้ใช้ NSS เพื่อควบคุมน้ำหนักหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อ (noncommunicable diseases; NCDs) โดยแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับ NSS เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่มีอยู่เดิมที่เกี่ยวกับอาหารสุขภาพ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างนิสัยการกินเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต หรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพอาหาร และลดความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs
ข้อแนะนำนี้เป็นไปตามหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ว่าการใช้ NSS ไม่ได้ก่อให้ประโยชน์ระยะยาวในการควบคุมน้ำหนักและการลดไขมันในร่างกายทั้งในผู้ใหญ่หรือเด็ก จากหลักฐานดังกล่าวนี้ยังชี้ให้เห็นว่าอาจมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ NSS ในระยะยาว เช่น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาวิธีอื่นเพื่อใช้ในการลดปริมาณน้ำตาลอิสระ เช่น การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้ หรืออาหารและเครื่องดื่มที่ไม่หวาน ตามที่ Francesco Branca ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารของ WHO กล่าวว่า “NSS ไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็นต่อการบริโภคอาหารและไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ผู้บริโภคควรลดความหวานของอาหารโดยเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำนี้ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว นอกจากนี้ ข้อแนะนำนี้ยังรวมถึงสารให้ความหวานทั้งสังเคราะห์ ดัดแปลง หรือเกิดเองตามธรรมชาติชนิดอื่นๆ ที่ไม่จัดรวมอยู่ในประเภทน้ำตาลที่เติมลงในอาหารและเครื่องดื่ม แต่ไม่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและสุขอนามัยที่มี NSS เช่น ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิว และยา หรือน้ำตาลแคลอรีต่ำและน้ำตาลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นน้ำตาลหรืออนุพันธ์ของน้ำตาลที่มีแคลอรีซึ่งไม่จัดว่าเป็น NSS
ความเชื่อมโยงระหว่าง NSS และผลของการเกิดโรคอาจทำให้สับสนโดยลักษณะพื้นฐานของผู้เข้าร่วมการศึกษาและรูปแบบที่ซับซ้อนของการใช้ NSS ดังนั้นข้อแนะนำนี้จึงได้รับการประเมินแบบมีเงื่อนไขตามกระบวนการของ WHO เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และการตัดสินใจเชิงนโยบายตามข้อแนะนำนี้อาจต้องมีการอภิปรายสาระสำคัญในบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ เช่น ปริมาณของการบริโภค NSS ในกลุ่มอายุต่างๆ
ที่มา: https://www.who.int/news/item/15-05-2023-who-advises-not-to-use-non-sugar-sweeteners-for-weight-control-in-newly-released-guideline
Comentários