การประชุมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2566 ซึ่งกระทรวง อว. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 นับเป็นกิจกรรมสำคัญเนื่องในโอกาสวาระครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐฯ และครบรอบ 10 ปีที่ไทยและสหรัฐฯ ได้มีการลงนามในความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า STA เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ความตกลงนี้ได้กำหนดกรอบและแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ ภายใต้ความตกลงนี้ ทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee Meeting on Science and Technology – JCM) เพื่อหารือผลักดันความร่วมมือ
การจัดการประชุมครั้งที่ 3 ก็สำเร็จลุล่วงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1. Health and Medicine, Including OneHealth – แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกันในด้าน genome sequencing การควบคุมโรค และสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อส่งเสริมสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม กลุ่ม 2. STEM, Entrepreneurship, and Innovation Ecosystem – ผลักดันความร่วมมือด้านการออกแบบหลักสูตรด้าน STEM อาทิ AI Engineering ในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกัน กลุ่ม 3. Biodiversity, Water, Agriculture and Climate Change Adaptation – สร้างแพลตฟอร์มสำหรับประเด็นที่มีความคาบเกี่ยว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตร การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่ม 4. Energy and Climate Change Mitigation – ชูประเด็นเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน พลังงานชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเชื่อมโยงสถาบันวิจัยระหว่างสองประเทศเพื่อมุ่งสู่ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
สำนักงานที่ปรึกษา อว. กรุงวอชิงตัน ภายใต้ทีมประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูต ได้ร่วมกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) ทำหน้าที่เป็นโต้โผจัดการประชุมดังกล่าว เพื่อระดมกำลังบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ววน. ของไทย ให้รับทราบถึงผลลัพธ์ของการประชุม Joint-Committee Meeting ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 ที่เพิ่งสำเร็จไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 และให้มีบทบาทที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน
โดยดำริของท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน การประชุมในปีนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นการรวมพลังของกลุ่มสมาคมคนไทย นักวิชาชีพในหลากสาขาอาชีพ ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวง อว. หลังจากการปรับโครงสร้างจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งสนับสนุนนักวิชาชีพหลากสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นสายวิทยาศาสตร์ สายศิลปศาสตร์ซึ่งเป็นสายที่สร้างพลัง soft power ให้กับประเทศ ด้วยเหตุนี้ การประชุมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ ประจำปี 2566 (Thai Professionals Conference 2023) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 ณ โรงแรม Denver Marriott Tech Center นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ของไทย และผู้แทนจากหน่วยงานทีมประเทศไทย ผู้แทนจากสมาคมนักวิชาชีพต่างๆ ในสหรัฐฯ
จึงมีความพิเศษ และมีการเข้าร่วมของผู้แทนสมาคม และผู้แทนหน่วยงานที่หลากหลาย ราว 40 คน ในส่วนของสมาคม ได้แก่ สมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC) สมาคมแพทย์ในสหรัฐฯ (Thai Physicians Association of America: TPAA ) องค์กรสามัคคีไทยอเมริกัน (Thai American Samakkee Coalition: Samakkee) สมาคมนวดและสปาแห่งสหรัฐฯ (Nuad Thai and Spa Association of America: NTSAA) สมาคมทนายความไทยอเมริกัน (Thai American Bar Association: TABA) และสุดท้าย สมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ (Association of Thai Students in USA: ATSA) สมาคมน้องใหม่ที่เป็นที่รวมของคนรุ่นใหม่ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความมุ่งมั่นจะมาช่วยพัฒนาประเทศไทยเรา
โดยการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ให้เกียรติมาเป็นประธานและองค์ปาฐก พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดที่มีบทบาทสำคัญในเวที JCM อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และหน่วยงานจัดสรรทุน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยงาน อว. ที่สนับสนุนด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ อย่าง วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ที่จะมีบทบาทดูแลสนับสนุน Soft Power
โดยในช่วงเช้าของการประชุม เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลขององค์กรและสมาคมต่างๆ เช่น บทบาทและหน้าที่ ขอบเขตความสามารถในการทำประโยชน์เพื่อประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ และความคาดหวังจากการประชุมในครั้งนี้ การประชุมในช่วงบ่ายเป็นการประชุม working group กลุ่มย่อยที่มีการแบ่งกลุ่มตามความเชี่ยวชาญและบทบาทหน้าที่ ผู้เข้าประชุมร่วมกันระดมความคิดหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานไทยและสหรัฐ
จากผลการประชุม สมาคมต่างๆ ได้มีการแนะนำตัวเองและเชื่อมโยงแนวทางการทำงานระหว่างกัน โดยผลลัพธ์ที่สำคัญประกอบด้วย
สมาคม ATPAC เสนอที่จะสร้างความร่วมมือในโครงการจัดตั้ง Consortium เรื่อง Carbon Capture Utilization and Storage และ Green Hydrogen, การเก็บกักพลังงาน (Energy Storage) ของประเทศ โครงการศึกษามลพิษในน้ำบาดาลและการตกค้างของสาร PFAS บนน้ำผิวดิน ตลอดจนการน้ำเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์
สมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐฯ สนใจที่จะไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการรักษาตลอดจนการให้ทุนแพทย์ที่ประเทศไทยมาศึกษาอบรมในสหรัฐฯ โดยผ่านมูลนิธิ King of Thailand Birthplace Foundation
สมาคมทนายความ พร้อมให้คำปรึกษาและเตรียมเอกสารยื่นจดสิทธิบัตร (Patent) และทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)
องค์กรสามัคคีไทยอเมริกัน พร้อมสร้างเครือข่ายที่จะช่วยเหลือคนไทยในหลากสาขาและเข้าถึงตัว รวมทั้งสนับสนุนมิติของกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ สำหรับธุรกิจที่มีนวัตกรรม/วิทยาศาสตร์
สมาคมนวดและสปา ต้องการ Reskill/upskill แรงงานและการพัฒนาศักยภาพเพื่อผ่านมาตรฐานการสอบ MBLEX (Massage & Bodywork Licensing Examination) ซึ่งยังไม่มีข้อสอบเป็นภาษาไทย เพื่อช่วยให้คนไทยในสหรัฐฯ สามารถประกอบอาชีพหมอนวดได้ถูกต้องตามกฎหมาย
สมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ จะต่อยอดจากความสำเร็จของงาน ATSA EXPO และการประชุมประจำปีของพวกเขา โดยในปีหน้า ATSA วางแผนที่จะดึงดูดศิษย์เก่าให้มามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสมาคมฯ มากขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างศิษย์เก่าและนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ปัจจุบัน นอกจากนี้ จะมีการจัดงานสัมมนาออนไลน์เชิงวิชาการและเน้นสาขาวิชามากขึ้น
การประชุม working group กลุ่มย่อยในช่วงบ่าย โดยแยกเป็น 4 หัวข้อย่อย 1. Climate Mitigation + Energy
2. Climate Adaptation + Water & Agriculture 3. Health and Medicine 4. STEM Education + Entrepreneurship
ดังนั้น การประชุมใหญ่นักวิชาชีพประจำปีนี้จึงมีความพิเศษ เพื่อให้นักวิชาชีพและนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริการับทราบผลลัพธ์ของการประชุม JCM ไทย-สหรัฐฯ ที่เพิ่งสำเร็จไป และโอกาสที่จะมีส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือต่างๆ โดยหาแนวทางการพัฒนาเครือข่ายร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการของไทย นักวิชาชีพไทย และนักเรียนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในสหรัฐฯ ให้มีส่วนสนับสนุนโครงการและกิจกรรมที่จะมีขึ้นจากโครงการความร่วมมือกับสหรัฐฯ และให้ประโยชน์กับการพัฒนาของประเทศของไทย และหารือแนวทางในการจัดตั้งสถาบันหรือกลไกกลาง สำหรับเป็นแหล่งรวมพล แบ่งปันข่าวสาร และเป็นที่อำนวยการในการการเสนอผลงานในการจัดการประชุมด้านเทคนิคประจำปี
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และปลัดกระทรวง อว. ได้มีโอกาสพบหารือกับผู้ว่าการรัฐโคโลราโด และนายกเทศมนตรีนครเดนเวอร์ ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐสำคัญที่ตั้งอยู่ตอนกลางประเทศ ทั้งนี้นครเดนเวอร์ถือเป็นเมืองหลักที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ ด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ธุรกิจสตาร์ทอัพ และการทำเหมืองแร่ โดยมีบริษัทของคนไทยอย่าง BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บ้านปูถือหุ้นร้อยละ 96.12 จัดตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อประกอบธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งการเหมืองแร่ พลังงาน และการผลิตก๊าซธรรมชาติ
การระดมพลังสมองและวิชาชีพของคนไทยในสหรัฐฯ ที่เดินมาจากทั่วสารทิศ เพื่อผนึกกำลังกับทีมข้าราชการไทยจากส่วนกลาง และทีมประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูต จึงนับเป็นโอกาสครั้งใหญ่เราจะได้เห็นการรวมพลังของคนไทยที่ช่วยคิด ช่วยทำ เพื่อนำพาความร่วมมือ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ กฎหมาย และศิลปะต่างๆ ต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประเทศเรา และประชาคมโลกในภาพรวมต่อไป
Comentarios