เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ได้จัดกิจกรรมงานประกาศผลรางวัลโครงการ Scientific Soft Power ประจำปี 2567 ซึ่งผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวเนตรชนก ยุทธศักดิ์สุนทร ในหัวข้อ “กลยุทธ์การจัดการขยะโดยการประยุกต์ ถ่ายโอน และต่อยอดเทคโนโลยีจากภูมิภาคตอนกลางของสหรัฐอเมริกาสู่ไทย” รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ นายณัฐ พรหมมา ในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต: กรณีศึกษาของอุตสาหกรรมยานยนต์ในรัฐมิชิแกน” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ นายธนสาร ช่างนาวา หัวข้อ “สถาปัตยกรรมไทยบนแพลตฟอร์มพิพิธภัณฑ์จักรวาลจำลองทางดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้" นอกจากนี้ มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "Establishing Correctness of Learning-Enabled Autonomous Systems" โดย ผศ.ดร. ทิชากร วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อาจารย์ประจำภาควิชา Computer Science จากมหาวิทยาลัย Iowa State University และการบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไทย โดย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมงานทุกท่านรวมไปถึงอาจารย์และนักศึกษาไทยในชิคาโกและบริเวณใกล้เคียงได้รับประทานอาหารและร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในโอกาสดังกล่าวด้วย สำนักงานที่ปรึกษาฯ ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน พร้อมกับขอขอบคุณคณะกรรมการ คณาจารย์ และนักศึกษา ที่เข้าร่วมการพบปะในครั้งนี้
รางวัลชนะเลิศ นางสาวเนตรชนก ยุทธศักดิ์สุนทร
“กลยุทธ์การจัดการขยะโดยการประยุกต์ ถ่ายโอน และต่อยอดเทคโนโลยีจากภูมิภาคตอนกลางของสหรัฐอเมริกาสู่ไทย”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง นายณัฐ พรหมมา
“การเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต: กรณีศึกษาของอุตสาหกรรมยานยนต์ในรัฐมิชิแกน”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง นายธนสาร ช่างนาวา
“สถาปัตยกรรมไทยบนแพลตฟอร์มพิพิธภัณฑ์จักรวาลจำลองทางดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้"
การบรรยายพิเศษโดย ผศ.ดร. ทิชากร วงศ์ภิรมย์ศานติ์ (ซ้าย) และ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ (ขวา)
Scientific Soft Power เป็นกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยในสหรัฐฯ ที่มองหาโอกาสในการเข้าร่วมเสนอโครงการศึกษางานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของกระทรวง อว. ในเขตภูมิภาคมิดเวสต์ประกอบด้วย 14 รัฐ ได้แก่ AR, IL, IN, IA, KS, KY, MI, MN, MO, NE, ND, OK, SD, WI เพื่อนำมาใช้ในการสนับสนุนการต่อยอดโอกาสการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและขยายองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนข้อเสนอแนะนโยบายและแผนด้าน อววน. ให้กับประเทศไทย ชิงทุนสนับสนุนเบื้องต้น และเงินรางวัลในรอบชิงชนะเลิศ รวมกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งโครงการนี้ได้มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
Comments