NASA พบโมเลกุลอินทรีย์ขนาดใหญ่บนดาวอังคาร!! ที่อาจเป็นกรดไขมันของสิ่งมีชีวิต
- OST Washingtondc
- Apr 7
- 1 min read

นักวิจัยของ NASA บนยานสำรวจคิวริออซิตี้ (Curiosity rover) ค้นพบสารประกอบอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบบนดาวอังคารที่บ่งชี้ว่า Prebiotic chemistry อาจก้าวหน้าไปมากบนดาวอังคาร ผลการค้นพบนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences

เครื่องมือวิเคราะห์ตัวอย่างบนดาวอังคารหรือ Sample Analysis at Mars (SAM) ที่สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างหินและดินบนดาวอังคารเพื่อค้นหาสารประกอบอินทรีย์ (ที่มา: www.cnn.com/2025/03/29/science/mars-curiosity-large-organic-molecules/index.html)
จากการตรวจสอบตัวอย่างหินบนดาวอังคารภายในห้องทดลองขนาดเล็ก Sample Analysis at Mars (SAM) ซึ่งตั้งอยู่บนยานคิวริออซิตี้ พบโมเลกุล decane, undecane และ dodecane ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอน 10, 11 และ 12 อะตอมตามลำดับ โดยเชื่อว่าเป็นเศษกรดไขมันที่อยู่ในหินตัวอย่าง กรดไขมันเป็นโมเลกุลอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบทางเคมีของสิ่งมีชีวิตบนโลก สิ่งมีชีวิตผลิตกรดไขมันเพื่อช่วยสร้างเยื่อหุ้มเซลล์และทำหน้าที่อื่นๆ แต่กรดไขมันก็สร้างขึ้นได้โดยไม่มีสิ่งมีชีวิตเช่นกัน โดยผ่านปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาต่างๆ รวมถึงปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับแร่ธาตุในช่องความร้อนใต้พิภพ (hydrothermal vents) แม้ว่าจะไม่มีการยืนยันแหล่งที่มาของโมเลกุลอินทรีย์ดังกล่าว แต่การค้นพบโมเลกุลเหล่านี้ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับทีมวิทยาศาสตร์ของยานสำรวจคิวริออซิตี้

นักวิทยาศาสตร์ของยานสำรวจคิวริออซิตี้เคยค้นพบโมเลกุลอินทรีย์ขนาดเล็กบนดาวอังคารแล้วก่อนหน้านี้ แต่การค้นพบโมเลกุลอินทรีย์ขนาดใหญ่นี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งชี้ว่าเคมีอินทรีย์ได้พัฒนาไปสู่ความซับซ้อนสำหรับต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร โดยนักวิจัยมีแผนจะนำตัวอย่างนี้จากดาวอังคารมายังโลกเพื่อวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย
ในเดือนพฤษภาคม 2013 นักวิทยาศาสตร์ของยานสำรวจคิวริออซิตี้ขุดตัวอย่างจากหลุมอุกกาบาต Gale บนดาวอังคาร จากบริเวณที่เรียกว่า Yellowknife Bay ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่สามารถทำให้โมเลกุลอินทรีย์รวมตัวกันและเก็บรักษาไว้ในหินตะกอนเนื้อละเอียดที่เรียกว่าหินโคลนได้ ทำให้หลุมอุกกาบาต Gale เต็มไปด้วยเบาะแสทางเคมีที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 3,700 ล้านปีก่อน นักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบว่าตัวอย่างดินเหนียวมีกำมะถันสูงซึ่งช่วยรักษาโมเลกุลอินทรีย์ไว้ได้ นอกจากนี้ หลุมอุกกาบาต Cumberland ยังมีไนเตรตจำนวนมากซึ่งมีความสำคัญต่อพืชและสัตว์บนโลก และยังมีมีเทนซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวภาพบนโลก
การค้นพบสารประกอบอินทรีย์ขนาดใหญ่เป็นผลข้างเคียงจากการทดลอง เพื่อตรวจหากรดอะมิโนใน Cumberland หลังจากให้ความร้อนไปยังตัวอย่างสองครั้ง ณ ห้องทดลอง SAM แล้ววัดมวลของโมเลกุลที่ปล่อยออกมา ทีมวิจัยไม่พบหลักฐานของกรดอะมิโน แต่พบว่าตัวอย่างปล่อย decane, undecane และ dodecane ออกมาในปริมาณเล็กน้อย เนื่องจากสารประกอบเหล่านี้อาจแตกตัวออกจากโมเลกุลขนาดใหญ่ในระหว่างการให้ความร้อน จึงมีการศึกษาย้อนหลังเพื่อหาว่าสารประกอบเหล่านี้อาจมาจากโครงสร้างใด โดยสมมติฐานคือโมเลกุลเหล่านี้อาจเป็นเศษของกรดไขมัน ได้แก่ undecanoic acid, dodecanoic acid และ tridecanoic acid ตามลำดับ
นักวิทยาศาสตร์ทดสอบสมมติฐานด้วยการผสม undecanoic acid เข้ากับดินเหนียวที่คล้ายกับตัวอย่างบนดาวอังคาร และทำการทดลองแบบเดียวกันในการให้ความร้อน undecanoic acid จะปล่อย decane ออกมาตามสมมติฐาน นักวิจัยจึงอ้างอิงการทดลองจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า undecane อาจแตกตัวออกจาก dodecanoic acid และ dodecane อาจแตกตัวออกจาก tridecanoic acid นอกจากนี้นักวิจัยยังพบรายละเอียดที่น่าสนใจเพิ่มเติมในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับจำนวนอะตอมคาร์บอนที่ประกอบเป็นกรดไขมันที่ได้สันนิษฐานไว้ในตัวอย่าง โครงสร้างของกรดไขมันแต่ละชนิดเป็นโซ่ตรงยาวที่มีคาร์บอน 11 ถึง 13 อะตอมขึ้นอยู่กับโมเลกุล แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือกระบวนการที่ไม่ใช่ทางชีวภาพมักจะสร้างกรดไขมันที่สั้นกว่าที่มีคาร์บอนน้อยกว่า 12 อะตอม
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าตัวอย่างจาก Cumberland อาจมีกรดไขมันสายยาวกว่า แต่เครื่องมือทดสอบในห้องทดลอง SAM ไม่พร้อมสำหรับการทดสอบกรดไขมันสายยาวกว่านี้ ในท้ายที่สุดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีขีดจำกัดด้านเครื่องมือที่สามารถส่งไปยังดาวอังคารได้ ดังนั้นจึงต้องมีการนำตัวอย่างจากดาวอังคารกลับมายังห้องทดลองบนโลก เพื่อยุติข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร
-------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
NASA’s Curiosity Rover Detects Largest Organic Molecules Found on Mars, https://science.nasa.gov/missions/mars-science-laboratory/nasas-curiosity-rover-detects-largest-organic-molecules-found-on-mars/
Curiosity rover makes ‘arguably the most exciting organic detection to date on Mars’, https://www.cnn.com/2025/03/29/science/mars-curiosity-large-organic-molecules/index.html
Opmerkingen