top of page

EPA เตรียมออกกฎควบคุม 'forever chemicals' ในน้ำดื่ม

รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมปรับกฎระเบียบควบคุมสาร PFAS หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ forever chemicals ที่เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด แต่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพ


PFAS เป็นสารเคมีกลุ่มใหญ่ที่ประกอบด้วยสารประมาณ 1,400 ชนิดที่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่คนเราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร ครีมกันแดด พรมกันคราบ สายกีตาร์ โฟมดับเพลิง และกระทะเคลือบสารกันติด เป็นต้น โดยสารในกลุ่ม PFAS ที่สำคัญคือ PFOA (perfluorooctanoic acid) และ PFOS (perfluorooctane sulfonic acid) PFAS เป็นสารที่มักถูกเรียกว่า forever chemicals เนื่องจาก PFAS ประกอบด้วยพันธะคาร์บอน-ฟลูออรีนที่มีความแข็งแรงและแยกตัวได้ยาก ทำให้ทนทานต่อน้ำและความร้อน จึงมีประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่ทั้งนี้ ในทางกลับกัน PFAS เป็นสารที่ไม่สลายตัวในกระบวนการทางธรรมชาติ ดังนั้นจึงกลายเป็นสารตกค้างทั้งในดิน น้ำ และอากาศ อีกทั้ง ยังแพร่กระจายและปนเปื้อนสู่พื้นที่ต่างๆ ผ่านน้ำใต้ดิน น้ำเสีย และการชลประทาน ซึ่งการใช้ PFAS อย่างแพร่หลายและยังเป็นสารที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานนั้น PFAS จึงตรวจพบในเลือดของคนและสัตว์ รวมถึง พบในปริมาณต่ำในผลิตภัณฑ์อาหาร ปลา และน้ำดื่มทั่วโลก จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า PFAS บางชนิดอาจเชื่อมโยงกับปัญหาทางด้านสุขภาพ เมื่อมีการสะสมหรือมีการสัมผัสซ้ำๆ ในปริมาณมาก เช่น ก่อให้เกิดอันตรายต่อตับและไต ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไตหรืออัณฑะ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง เพิ่มโอกาสในการแท้งบุตร และอาจจะเพิ่มโอกาสที่ทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักต่ำ เป็นต้น


สำหรับในน้ำดื่ม ตั้งแต่ปี 2551 EPA ได้ตั้งระดับค่า PFOA ที่ 400 ส่วนต่อล้านล้านส่วน (parts per trillion) ในปี 2559 ลดระดับค่า PFOA ลง เหลือ 70 ส่วนต่อล้านล้านส่วน และในปี 2565 EPA พยายามที่จะลดระดับค่า PFOA ให้อยู่ใกล้กับศูนย์ รวมทั้ง EPA กำหนดให้รัฐบาลของรัฐ ท้องถิ่น และชนเผ่าตรวจสอบสารปนเปื้อนในระบบน้ำสาธารณะ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำดื่มในแต่ละชุมชนมีความปลอดภัย ในปี 2565 EPA ออกคำแนะนำด้านสุขภาพน้ำดื่มสำหรับสาร PFAS ในการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการการส่งมอบน้ำสะอาดและการเตรียม PFAS Strategic Roadmap รวมถึงการยื่นขอเงินทุนจากรัฐบาลกลางในการสนับสนุนกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจัดการกับ PFAS และสิ่งปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในน้ำดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนขนาดเล็กหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และในช่วงเดือนที่ผ่านมา EPA ได้ประกาศความพร้อมของเงินทุนจำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Bipartisan Infrastructure Law เพื่อจัดการกับสารปนเปื้อน ที่รวมถึง PFAS ในน้ำดื่มทั่วประเทศ โดยจะจัดสรรให้กับรัฐและพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนขนาดเล็กหรือผู้ด้อยโอกาสในรูปแบบเงินช่วยเหลือผ่านโครงการทุนอุดหนุน อีกทั้ง ส่งเสริมการเข้าถึงน้ำสะอาดและปลอดภัยในชุมชน นอกจากนี้ EPA กำลังพัฒนากฎระเบียบ National Drinking Water Regulation สำหรับสาร PFOA และ PFOS รวมถึง ประเมินและพิจารณาการดำเนินการด้านกฎระเบียบเพื่อจัดการกับกลุ่มของ PFAS เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่า EPA จะสรุปกฎระเบียบได้ภายในสิ้นปี 2566 นี้

 

ที่มา:


Comments


bottom of page