ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายพิเศษเรื่อง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง (10 Technologies to Watch) ซึ่ง สวทช. จัดขึ้นภายใต้งาน งานประชุมและนิทรรศการ APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022) เป็นการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบได้อย่างชัดเจนใน 5 – 10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ 10 เทคโนโลยีทั้งหมดเป็นการคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก ทุกคนอาจมีบทบาทเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ผู้สร้างและสนับสนุน ซึ่ง สวทช. อว. ได้ทุ่มเททรัพยากรไปกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไม่น้อยและมีผลงานคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ลงทุนเพื่อความเข้มแข็งของ วทน. ของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
1. เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ Brain-Computer Interface (BCI)
เดือนกรกฎาคม 2019 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อภิมหาเศรษฐี ผู้โด่งดังมาจากรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla) และยาน อวกาศสเปซเอกซ์ (SpaceX) ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ สร้างความฮือฮาไปทั้งโลก เมื่อประกาศว่าบริษัทนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ที่เขาตั้งขึ้น จะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า BCI อย่างจำเพาะ และตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้สมองมนุษย์สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรงในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางการแพทย์เรื่อง BCI หรือ Brain-Computer Interface ยืนยันความเป็นไปได้ของการเชื่อมสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ การตรวจสอบคลื่นสมองของมนุษย์ที่มีความแม่นยำสูง เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยให้มนุษย์สั่งงานคอมพิวเตอร์หรือรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองได้ในอนาคต
2. เอไอแบบรู้สร้าง (Generative AI)
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่ปัจจุบันได้มีการนำเรื่องของ Big Data เข้ามาใช้งานให้ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถเรียนรู้และสร้างสิ่งต่าง ๆ จากข้อมูลจำนวนมากได้ เช่น การสเก็ตช์ภาพใบหน้าคนร้าย เทคนิคการสร้างแบบจำลองที่เรียกย่อว่า แกน (GAN, Generative Adversarial Networks) ใช้สร้างภาพใบหน้าที่สมจริง มีความละเอียดสูง หรือการใช้ Generative AI เพิ่มความละเอียดภาพให้อยู่ในระดับ Super–Resolution ช่วยแปลงภาพถ่ายให้คมชัดมากขึ้น แปลงภาพในเวลากลางวันให้กลายเป็นภาพตอนกลางคืน
ในประเทศไทย เนคเทค สวทช. ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Generative AI มาอย่างต่อเนื่อง เช่น สร้าง VAJA ที่เป็นระบบการสังเคราะห์เสียงจากข้อความภาษาไทย ทำ Automatic Image Caption Generation In Thai เพื่อสร้างคำบรรยายภาพที่เป็นภาษาไทยอย่างอัตโนมัติ และโครงการ Z-Size Ladies ที่เป็นระบบการจำลองรูปร่างแบบ 3 มิติ สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ระยะ 2-40 สัปดาห์
มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีงานวิจัยด้าน Generative AI กันอย่างกว้างขวาง เช่น VISTEC กำลังศึกษากระบวนการคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ใช้จำลองการขยับใบหน้าของคนอย่างสมจริง SIIT ใช้เทคนิค GAN ในการสร้างภาพที่ปกติต้องทำในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่เท่านั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้ GAN เรียนรู้สไตล์ฟอนต์ภาษาอังกฤษ เพื่อประยุกต์ใช้สร้างฟอนต์ภาษาไทยใหม่ๆ และมีแม้แต่มีนักศึกษาในบางสถาบันที่ศึกษาการใช้เทคนิค GAN ในการจำลองราคาหุ้น เพื่อทำการซื้อขายหรือตรวจจับการปั่นหุ้น
3. เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติและเชื่อมต่อ CAV (Connected and Autonomous Vehicle Technologies)
ยานยนต์อัตโนมัติและเชื่อมต่อหรือ CAV เป็นยานยนต์สมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระบบอัจฉริยะหลายแบบ เข้าช่วยงาน โดยที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving Technology) ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ระบบสามารถวางแผนและควบคุมให้สามารถตอบสนองกับสภาพแวดล้อมเพื่อมความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์
เทคโนโลยีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Driver Assistance Technology) เช่น ระบบตรวจจับจุดอับสายตา ระบบตรวจจับคนเดินถนน ระบบเตือนการออกนอกเลน ระบบเบรกฉุกเฉิน ระบบรู้จำป้ายจราจร และระบบรักษาความเร็วคงที่แบบแปรผัน (Adaptive Cruise Control)
เมื่อเทคโนโลยี CAV ก็จะเข้าไปอยู่ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV มากขึ้น แนวโน้มที่เห็นได้ชัดในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคือ ผู้ผลิตแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยี CAV เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีความต้องการ
4. ระบบสำรองพลังงานแบบยาวนาน (Long Duration Storage)
ระบบโครงข่ายพลังงานหรือระบบกริด (Grid Energy Storage System) เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการกักเก็บพลังงานจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากลมและแสงแดดที่ผันผวน และจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีระบบสำรองไฟฟ้าที่มีสมรรถนะดีและต้นทุนเหมาะสม
เทคโนโลยีสำรองไฟฟ้าสำหรับระบบกริด ใช้ระบบแบตเตอรี่ “ลิเทียมไอออน” ซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดี แต่มีต้นทุนสูง ตัวแบตเตอรี่อาจระเบิดได้ และสารเคมีที่ใช้อาจเป็นพิษกระทบสิ่งแวดล้อม แร่ลิเทียมมีราคาแพงและมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น พื้นที่บางแห่งในสหรัฐอเมริกาใช้แบตเตอรี่ไหลชนิดเหล็ก หรือ Iron Flow Battery มาใช้เป็นระบบสำรองไฟฟ้าในระบบกริดของบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ช่วยสำรองไฟได้นาน 12–100 ชั่วโมง
นอกจากราคาและอายุการใช้งานที่ยาวกว่า จุดเด่นสำคัญคือ แบตเตอรี่ทางเลือกที่กล่าวมาไม่ระเบิด จึงปลอดภัยกว่า และส่วนประกอบที่ใช้ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
5. การรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel Recycle)
ปัจจุบันมีการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้นทำให้มีปริมาณแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานถูกทิ้งจำนวนมากกว่า 78 ล้านตัน เฉพาะในประเทศไทยอาจมีมากถึง 4 แสนตัน การรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์จึงมีความสำคัญ
เทคโนโลยีการแยกส่วนประกอบแผงโซลาร์เซลล์เรียกว่า (Photovoltaic Module) ใช้การแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกมาแบบบดละเอียดวิธีการนี้มีข้อจำกัดและมีวัสดุเหลือทิ้งเยอะ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่เรียกว่า Heated Blade การใช้ใบมีดร้อนตัดแบ่งชิ้นส่วน เทคโนโลยีแบบใหม่นี้ เปิดโอกาสใหม่ให้ ธุรกิจ Reuse/ Recycle วัสดุ ทำให้เกิดการใช้วัตถุดิบรอบสอง (Secondary Raw Material) ทำให้เกิดวงจรเศรษฐกิจแบบ Circular Economy ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจแบบ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ
6. เทคโนโลยีการตรวจวัดและวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอน (Carbon Measurement & Analytics)
เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูล เพื่อประเมินการปล่อยยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ การใช้มาตรการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกผ่านการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซในภาคอุตสาหกรรม และการบังคับชดเชยการปล่อยก๊าซที่มากเกิน ผ่านธุรกิจการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่ามีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต 500-800 ล้านตัน CO2 ในระหว่างปี 2020-2040
ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 โดยใช้เทคโนโลยีการคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิต เช่น การใช้เทคนิค Data Mining & Data Analytics เพื่อคำนวณ Carbon Footprint ผ่านฐานข้อมูล Thai National LCI Database มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SMEs
เทคโนโลยีดังกล่าวจึงช่วยส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนเกิดแนวคิดในการประกอบธุรกิจแบบ Green Economy มากขึ้น ตามแนวเศรษฐกิจแบบ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ
7. เทคโนโลยี CCUS ด้วยพลังงานสะอาด (CCUS By Green Power)
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจก เป็นวิกฤติที่ทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ไข ประเทศไทยประกาศในการประชุม COP26 ว่าจะเป็นประเทศ Net Zero Emission หรือปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากกิจกรรมต่างๆ เป็นศูนย์ ให้ได้ในปี 2065
การลดใช้พลังงานจากฟอสซิลและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ไม่น่าเพียงพอบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ต้องอาศัย เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage) หรือเทคโนโลยี CCUS เข้ามาช่วยจัดการก๊าซ CO2 ก่อนปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ เทคโนโลยี CCUS ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนย่อย ได้แก่ (1) การดักจับก๊าซ CO2 ด้วยวัสดุดูดซับ (2) การนำ CO2 ที่ดักจับได้ไปแปรรูปเป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรม และ (3) การนำ CO2 ไปกักไว้อย่างถาวร โดยการอัดเข้าไปเก็บใต้ผืนพิภพ
หัวใจของเทคโนโลยี CCUS คือ การพัฒนาวัสดุและกระบวนการทางเคมีที่เปลี่ยน CO2 ให้อยู่ในรูปแบบที่จัดการได้ง่าย โดยไม่ใช้พลังงานมากจนเกินไป แต่ก๊าซดังกล่าวปกติแล้วแทบจะทำปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆ น้อยมาก จึงต้องอาศัยวัสดุดูดซับ หรือ CO2 Adsorbent ที่มีความจำเพาะสูง ตรึงก๊าซ CO2 ออกจากไอเสียทางอุตสาหกรรมหรือจากอากาศ ได้ผลลัพธ์เป็น CO2 ที่มีความเข้มข้นและความบริสุทธิ์สูง จนใช้เป็น “สารตั้งต้น” ที่ใช้ทดแทนสารตั้งต้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อผลิตสารเคมีที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรม เช่น แอลกอฮอล์ ก๊าซสังเคราะห์หรือ syngas ปุ๋ยยูเรีย กรดอินทรีย์ ผงฟู (bicarbonate) และพอลิเมอร์ต่างๆ ได้
8. การดูแลสุขภาพทางไกลในยุคถัดไป (Next–Generation of Telehealth)
ในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา หลายคนอาจได้มีประสบการณ์ใช้งานระบบ Telehealth หรือ การดูแลสุขภาพทางไกล โดยระบบดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก เพราะช่วยลดการติดเชื้อ ช่วยติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของผู้ป่วย รวมไปถึงลดความหนาแน่นของโรงพยาบาล ประเมินกันว่าแนวโน้มเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปและน่าจะขยายตัวมากขึ้นด้วยในยุคหลังโควิด-19
เทคโนโลยีนี้สร้างผลกระทบได้ เพราะมีปัจจัยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความนิยมใช้แอปพลิเคชันต่างๆ และราคาค่าใช้จ่ายที่อยู่ในระดับยอมรับได้ ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยี AI, Internet of Things, VR, AR, Robotics รวมไปถึงอุปกรณ์หรือเซนเซอร์ติดตามตัว ซึ่งจะกลายมาเป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ในรูปแบบต่างๆ จะยิ่งทำให้เทคโนโลยี Telehealth ในยุคถัดไป แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้ จะช่วยทำให้ “ปฏิสัมพันธ์” ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย หรือ แพทย์กับแพทย์ มีความใกล้เคียงและเสมือนจริงมากขึ้น และ ทำให้เกิดการบริการทางการแพทย์ทางไกลแบบใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น
9. ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology)
“ชีววิทยาสังเคราะห์” เป็นศาสตร์ใหม่ ที่ผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับวิศวกรรมศาสตร์ โดยเน้นที่ไปการใช้ความรู้สร้างจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตสารสำคัญ ซึ่งมีมูลค่าสูงจนคุ้มค่าแก่การลงทุน และสามารถใช้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นในการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ได้ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และยังถือทรัพย์สินทางปัญญาที่ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้อีก
ความก้าวหน้าในงานวิจัยด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ลองจินตนาการว่า อีก 5 ปี มีผลิตภัณฑ์อย่างวัวหรือเนื้อปลาแซลมอนที่ “เพาะขึ้น” ในแล็บ โปรตีนจากไข่ที่สร้างขึ้นมาโดยตรง ไม่ต้องมีแม่ไก่ออกไข่ น้ำนมที่ได้มาจากกระบวนการชีววิศวกรรมในห้องปฏิบัติการ โดยไม่ต้องเลี้ยงแม่วัวเพื่อให้นม น้ำผึ้งที่ไม่ต้องเลี้ยงผึ้ง ถึงตอนนั้น พวกวีแกนก็จะมีเนื้อ นม ไข่ กินได้ โดยไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ตัวใดเลย
10. การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันแบบ CAR T–Cell CAR T-Cell (Chimeric Antigen Receptor T-Cell Therapy)
การดัดแปลงและปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้มีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับเซลล์ปกติ วิธีการที่ได้ผลดีแบบหนึ่งเรียก CAR T–Cell คำว่า CAR ในทีนี้ เป็นตัวอักษรย่อมาจากคำว่า Chimeric Antigen Receptor ขณะที่ T-Cell คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม เซลล์ติดเชื้อโรค หรือเซลล์มะเร็ง
หลักการสำคัญของวิธี CAR T-Cell คือ เราสามารถดัดแปลง T-Cell ของผู้ป่วย ให้สร้างโปรตีนที่เรียกว่า CAR ซึ่งคล้ายกับเครื่องตรวจจับติดอาวุธ เมื่อ T-Cell เจอกับเซลล์มะเร็ง จึงสามารถจดจำและกำจัดเซลล์มะเร็งจำเพาะเหล่านั้นได้ เทคโนโลยีแบบนี้มีจุดเด่นคือ มี “ความจำเพาะ” กับเซลล์มะเร็งสูงมาก แทบไม่ทำอันตรายเซลล์ปกติเลย CAR T-Cell จำเพาะกับผู้ป่วยแต่ละรายเท่านั้น จึงไม่ทำให้เกิดภาวะ Autoimmunity หรือ “ภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง” จึงมีความปลอดภัยสูง ต่างกับวิธีการรักษามะเร็งส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่
คลิปการบรรยายของศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์
Comments