top of page

ผีมีจริงไหม? ทฤษฎีเบื้องหลังเรื่องลี้ลับ

ผีมีจริงไหม??? คนส่วนใหญ่ที่เชื่อเรื่องผีอาจเป็นเพราะมีประสบการณ์โดยตรง เติบโตในบ้านที่เชื่อว่ามีวิญญาณอาศัยอยู่ ได้รับประสบการณ์จากสถานที่ที่เชื่อว่ามีผีสิงอยู่ หรือความเชื่อที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าขานต่างๆ โดยหลายคนเชื่อว่า การมีอยู่จริงของผีนั้น จะสามารถใช้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาอ้างอิงหรืออธิบายได้ ซึ่งตั้งแต่ในอดีตนักวิทยาศาสตร์พยายามหาสารพัดวิธีเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับโลกวิญญาณ ประดิษฐ์อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาข้อมูลสนับสนุน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ซะทีเดียว ตัวอย่างที่พบบ่อยของการอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีหลายรูปแบบเกี่ยวกับผี หรือประสบการณ์ที่คนคิดว่าการเจอผีเข้าแล้ว เช่น



- พลังงานที่เปลี่ยนรูป

นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหลายคนในอดีตพยายามอธิบายการมีอยู่ของผี เช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน

นักประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เอดิสันได้รวมตัวกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ประดิษฐ์ลำโพง เครื่องปั่นไฟ และอุปกรณ์ทดลองอื่นๆ เพื่อบันทึกเสียงและการปรากฏตัวของคนตาย โดยตั้งสมมติฐานว่า หากผีคือพลังงานรูปแบบหนึ่ง ก็น่าจะสามารถสื่อสารกับคนที่มีชีวิตได้


อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เสนอพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการมีอยู่จริงของผี โดยอ้างอิงกฎ First Law of Thermodynamics เมื่อพลังงานไม่สามารถสร้างหรือทำลายได้ แต่เพียงเปลี่ยนรูปแบบ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับพลังงานในร่างกายของคนเราเมื่อตายไป พลังงานที่ปรากฏนั้น คือ ผีใช่หรือไม่ เมื่อเจาะลึกลงไปในฟิสิกส์พื้นฐาน คำตอบที่ได้นั้น คือ หลังจากที่คนตาย พลังงานในร่างกายของคนเราจะกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เมื่อตายไปพลังงานจะถูกปลดปล่อยออกมาในรูปของความร้อน ส่วนของร่างกายจะถูกย่อยสลายโดยสัตว์ แบคทีเรีย รวมถึงการดูดซึมของพืช ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์อีกฝ่ายมองว่า หากผีมีจริง และยังเป็นพลังงานหรือมีตัวตนอยู่นั้น ก็ควรมีการค้นพบและตรวจสอบได้เช่นเดียวกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ และควรมีหลักฐานยืนยันชัดเจนและแตกต่างจากศตวรรษก่อน


- วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience)

โลกปัจจุบันที่มีการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำหน้า การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อวิเคราะห์และให้เหตุผลอธิบาย ทำให้การอธิบายนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น รายการเรียลิตี้โชว์ล่าผี จึงรับบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อตรวจจับพลังงานบางอย่าง พยายามค้นหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ตอกย้ำความเชื่อ และนำมาอธิบายว่าสิ่งที่ตรวจจับได้นั้น คืออะไรกันแน่


การไล่ล่าผีเปลี่ยนรูปแบบจากดั้งเดิมมีการใช้วิทยาการสมัยใหม่ มีการอธิบายให้สอดคล้องกับหลักทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ในความจริงแล้ว นักล่าผีเหล่านี้ ไม่ได้มีการพิสูจน์สิ่งเหนือธรรมชาติตามแบบแผนของวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง มีเพียงการตรวจจับสัญญาณหรือการเคลื่อนไหวบางอย่างด้วยเครื่องมือ เช่น เครื่องตรวจจับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (EMF) อุปกรณ์ตรวจวัดไอออน เครื่องวัดกัมมันตรังสีไกเกอร์เคาน์เตอร์ (Geiger counter) กล้องอินฟราเรด และไมโครโฟนความไวสูง เป็นต้น และนำมาอ้างว่า คือ การปรากฏตัวของผี จนทำให้กลายเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) ไปในที่สุด ผนวกกับแฟนรายการที่มีความเชื่อเรื่องผีอยู่แล้ว ทำให้ปักใจเชื่อเรื่องผีได้ง่ายขึ้น


- อำนาจของจิต

จิตและความคิดของคนเราเป็นสิ่งที่ทรงพลังอำนาจเหนือว่าที่คนเราคิดไว้ คนเรามักจะคิดว่าตัวเองเป็นนักคิดที่มีเหตุผล แต่บ่อยครั้งที่คนเรามีความคิดที่เอนเอียงทำให้เราเข้าใจผิด พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์หรือจินตนาการที่สอดคล้องกับสิ่งที่ได้รับรู้มา เช่น หากมีคนบอกว่า ตึกหลังนี้มีผีสิงอยู่ เมื่อคนเราได้ยินเช่นนั้น เราจะเริ่มสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ผิดปกติ ได้ยินเสียงที่ไม่สามารถอธิบายได้ และคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจากผีจริงๆ นอกจากนี้ คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องผีมากขึ้น แม้ว่าตัวเราเองเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นหรือได้ยินมา แต่หากมีเพื่อนหรือใครก็ตามที่อยู่ตรงนั้น สนับสนุนความเชื่อเดียวกัน ก็จะทำให้เรายิ่งคล้อยตามกับความคิดนั้นๆ จิตและความคิดของเราสามารถจินตนาไปได้อย่างไร้ขอบเขต ซึ่งทำให้ในบางครั้ง เราจึงไม่สามารถไว้ใจสิ่งที่เราเห็น ได้ยิน หรือสิ่งที่สมองเราคิดได้เสมอไป





- คลื่นเสียงความถี่ต่ำ … เสียงที่ชวนขนลุก

หูของคนเราสามารถรับคลื่นเสียงได้ที่ระดับความถี่ตั้งแต่ 20 ถึง 20,000 เฮิรตซ์ หรือเป็นช่วงความถี่ที่เรียกว่า โซนิค (Sonic) โดยเสียงที่มีระดับความถี่เกินกว่า 20,000 เฮิรตซ์ หรือ คลื่นเหนือเสียง หรือที่เรียกว่า อัลตร้าโซนิค (Ultrasonic) นั้น หูของคนเราไม่สามารถรับรู้ได้ ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ เช่น ค้างคาว หรือโลมา ที่ใช้ประโยชน์คลื่นเสียงในความถี่นี้ เพื่อใช้ในการสื่อสารและการระบุตำแหน่งวัตถุ ในทำนองเดียวกัน เสียงที่มีระดับความถี่ต่ำกว่า 20 เฮิรตซ์ เรียกว่า คลื่นใต้เสียง หรือเรียกว่า อินฟราโซนิค(Infrasonic) นั้น หูของคนเราก็ไม่สามารถรับรู้ได้เช่นเดียวกัน เสียงความถี่ต่ำสามารถเกิดได้จากตามธรรมชาติ ไม่ว่าจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือฟ้าผ่า รวมถึง การสื่อสารระหว่างสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง วาฬ และฮิปโป อีกทั้ง คนเราเองก็มีการสร้างเสียงความถี่ต่ำผ่านเครื่องยนต์ดีเซล กังหันลม ลำโพง หรือการระเบิดของสารเคมี


ถึงแม้ว่าหูของคนเรานั้นจะไม่ได้ยินเสียงความถี่ต่ำ แต่เสียงในช่วงความถี่นี้ไม่ได้ถูกมองข้ามไป เนื่องจากส่งผลและก่อให้เกิดความรู้สึกในกลุ่มคน โดยในอดีตมีการศึกษาและพบว่า 22% ของผู้ชมคอนเสิร์ตสัมผัสกับเสียงที่ความถี่ 17 เฮิรตซ์ กลุ่มคนเหล่านี้ เกิดความรู้สึก ไม่สบายใจ เศร้าโศก หนาวสั่น หรือหวาดกลัว อีกทั้ง ยังพบว่าทำให้เกิดผลทางสรีรวิทยา เช่น หัวใจเต้นเร็ว การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินหายใจ และสามารถบิดเบือนลูกตาทำให้เห็นภาพเลือนลางได้อีกด้วย


- คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์คล้ายกับการเจอผีนั้น ได้มีทฤษฎีอธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ electromagnetic fields (EMF) ที่ถูกสร้างขึ้นจากวัตถุที่มีประจุ คลื่นพลังงานมีจัดเรียงตามสเปกตรัมตามความยาวคลื่น เมื่อความยาวคลื่นลดลง พลังงานของคลื่นจะเพิ่มขึ้น โดยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแผ่ออกจากวัตถุเป็นคลื่นพลังงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแหล่งที่มาของ EMF นั้น เกิดได้จากทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่เต้าเสียบไฟที่ผนังบ้าน ไปจนถึงพายุฝนฟ้าคะนอง แต่ทั้งนี้ คนเราไม่สามารถรับรู้ EMF เหล่านี้ได้โดยตรง แต่ EMF อาจส่งผลต่อสมองคนเรา ดร.Michael Persinger นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Laurentian ในแคนาดา ได้ศึกษาการใช้สนามแม่เหล็กอ่อนกับกลีบสมอง ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรับรู้และความจำ ซึ่งอาจทำให้คนมีประสบการณ์ที่เหมือนการรับรู้และการได้สัมผัสกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยใช้เครื่องที่ปล่อย EMF ระดับอ่อนๆ โดยในระหว่างการทดสอบ ผู้เข้าร่วมประมาณ 80% มีความรู้สึกที่แปลกประหลาดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เช่น เห็นการปรากฏตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เห็นภาพที่มีชีวิตชีวา หรือเกิดสภาวะอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่ง ดร.Persinger คิดว่า หลายคนที่คิดว่าตัวเองเจอผีนั้น อาจเกิดจาก EMF ที่คล้ายคลึงกันซึ่งพบได้ตามธรรมชาติในสภาพแวดล้อมทั่วไป นอกจากนี้ ดร. Christopher French นักจิตวิทยาจาก University of London ทดสอบทั้งทฤษฎี EMF และคลื่นใต้เสียง โดยติดตั้งแม่เหล็กไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดคลื่นใต้เสียงในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ และเชิญอาสาสมัครเข้าไปยังในอพาร์ตเมนต์นั้น พบว่าอาสาสมัครบางคนมีอาการที่รู้สึกเหมือนว่าได้สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติเช่นเดียวกัน

 

ที่มา:

Comments


bottom of page